ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

องค์กรอิสระ-องค์กรวุฒิสภา ประสานเสียง "ต่างคีย์" หรือมีผลประโยชน์ "ทับซ้อน"

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11456 มติชนรายวัน


องค์กรอิสระ-องค์กรวุฒิสภา ประสานเสียง "ต่างคีย์" หรือมีผลประโยชน์ "ทับซ้อน"





มีเสียงชื่นชม "สุเทพ เทือกสุบรรณ" รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้กลายเป็น อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 1 แล้ว จากการลาออกตำแหน่งเพราะมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กกต.เสียงข้างมากชี้ว่า นายสุเทพ และคณะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีก 12 คน ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ประกอบมาตรา 265 (2) (4) เนื่องจากถือครองหุ้นในบริษัทสัมปทานรัฐและกิจการสื่อสารมวลชน

เป็นความประหลาดใจในเบื้องแรก ที่คนระดับ "ผู้จัดการรัฐบาล" ด่วนตัดสินใจลาออกไป จน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ต้องรีบออกมาสกัด 12 ส.ส.ปชป.ไม่ให้ลาออกตาม

แต่เบื้องถัดมาก็ถึงบางอ้อ เมื่อมีเสียงลือ เสียงเล่าอ้างว่า "ธานี เทือกสุบรรณ" อดีตนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี น้องชายสุดที่รักของนายสุเทพอีกคนหนึ่ง จะมาเป็นว่าที่ "แคนดิเดต" ที่พรรคจะส่งลงสมัครรับเลือกตั้งแทนตำแหน่ง ส.ส.เขต 1 ที่ว่างลง

แม้จะยังไม่มี "มติพรรค" แต่จะมีสมาชิก ปชป.คนอื่นๆ ในพื้น กล้ายกมือเสนอตัวแข่งบารมี "เทือกสุบรรณ" หรือ

นั่นจึงเป็นที่มาของการกล่าวหาของฝ่ายค้านว่า "สุเทพ" ตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ต่างจากยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะสามารถ "อุ้มน้องชาย" นั่งเก้าอี้ ส.ส.สมใจ

ขณะเดียวกันก็ทำให้ "ภาพลักษณ์" ของตนเองดีขึ้นทันใด ..!?!

ภาพที่ฉายซ้อนเหตุการณ์ที่ "สุเทพ" เล่นบทที่ตัวเองเขียนขึ้น และสามารถ "ตีบทแตก" จนได้รับการแซ่ซ้องจากประชาชนว่าเป็นนักการเมืองน้ำดี-มีคุณธรรมสูงนั้น ไม่ต้องพูดถึงว่า กกต.ผู้เล่นบท "มือเชือด" จะต้องแบกรับอารมณ์ของสังคมไทยหนักหน่วงขนาดไหน

ต้องยอมรับว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการ "ตีความตามตัวบท" อย่างเคร่งครัดของ กกต.อยู่ไม่น้อย แต่ขณะเดียวเสียงก่นด่าก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย เพราะเกรงว่าการวินิจฉัยครั้งนี้อาจจะเป็น "ต้นเหตุ" ให้คนไทยต้องเสียค่าโง่ประชาธิปไตยอีกรอบ เพราะจะต้องละลายเงินภาษีไปกับการจัดการเลือกตั้งซ่อมที่ "มีความน่าจะเป็น" ว่าจะได้ "ส.ส.หน้าเดิม" กลับเข้าสภา ??

แต่หากยึดหลักการที่ว่า บ้านเมืองจะอยู่ได้ กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ในฐานะที่องค์กรอิสระอย่าง กกต. ที่มีองค์ประกอบของบุคลากรที่มาจากอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน และอดีตรองอัยการสูงสุด คงไม่อาจปฏิเสธ "ภาวะบีบคั้น" ที่มาจากกฎหมายแม่บทดังกล่าวได้

กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ หากบังคับใช้ไม่ได้ก็อย่ามีเสียดีกว่า ...และบ้านเมืองก็เดินเข้าสู่ "กลียุค"

และกรณีนี้คงทำให้นักศึกษากฎหมายงงงวยกับการ "ตีความตามตัวบท" ของ กกต.น้อยที่สุด

แต่สุดท้ายบุคคลที่ "ถูกตั้งคำถาม" ในเรื่องท่าทีและเจตนามากที่สุดของเรื่อง กลับมีชื่อ "ประสพสุข บุญเดช" ประธานวุฒิสภา นำลิ่วเข้าป้าย ??

ปฏิกิริยาที่ "ประสพสุข" เด้งรับเผือกร้อน กรณี กกต.เคยวินิจฉัยให้ 16 ส.ว.ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะขาดคุณสมบัติในทำนองเดียวกันกับ 13 ส.ส.ประชาธิปัตย์นั้น ประหนึ่งว่า "ไม่ยินดี" จะเร่งรัดการขับเคลื่อนงานต่อจาก กกต.สักเท่าไหร่

จนเกิดเสียงสะท้อนจากอาคารรัฐสภา 2 สถานที่ทำงานของวุฒิสภาว่า "ประธาน (กำลัง) หาเสียง" ด้วยยื้อเวลาส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งติติง "สำนวน" ของ กกต.ว่าไม่เรียบร้อย บ่นว่าเอกสารจำนวนมาก คงทำให้การ "คัดสำเนา" ให้ 16 ส.ว.เป็นไปอย่างล่าช้า

และหากเทียบเรื่อง ส.ว.ปราจีนบุรี ที่ขาดคุณสมบัติ และ กกต.ส่งเรื่องมาให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น จากดองเค็มมาหลายเดือน เพิ่งได้ฤกษ์ส่งศาลวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ฉะนั้น เห็นทีว่ากรณี 16 ส.ว.คงเป็นหนังสือเรื่องยาวของสภาสูง

"ประสพสุข" เคยประกาศกลางมวลหมู่สมาชิกและสื่อมวลชนที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ว่าจะลงจากเก้าอี้ในเดือนเมษายน 2553 โดยไม่ได้ปิดประตูตายที่จะ "เสนอตัว" ให้เพื่อน ส.ว.เลือกกลับเข้ามาเป็นประธานวุฒิสภาอีกรอบหนึ่ง ??

การเอื้ออาทรพวกพ้องเดียวกัน ถือเป็นธรรมชาติของผู้คนในสังคมอุปภัมภ์

เพียงแต่บางครั้งบางคราและผู้คนในบางสถานะ เมื่อสวม "หัวโขน" รับหน้าที่เป็นเสาหลักของสังคม ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้ "เกิดดุล" ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว และผลประโยชย์ส่วนรวม โดยความสมดุลดังว่านั้น จะต้องมีผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นธงคำตอบ

"สุเทพ" ถูกตั้งข้อกังขาเรื่อง "มูลเหตุแท้จริง" ของการตัดสินใจลาออก

กกต.ถูกตั้งคำถามเรื่องการใช้ดุลพินิจในการทำหน้าที่

"ประสพสุข" ถูกเพ่งเล็งเรื่องท่าทีการรับไม้ต่อจาก กกต. ทั้งๆ ที่พูดเองว่าเป็นแค่ "นายไปรษณีย์" และไม่รู้แน่ชัดว่าคำตอบสุดท้ายของศาลรัฐธรรมนูญจะออกหัวหรือก้อย

หรือสังคมไทยเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยปมปัญหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน" จริงๆ จนเป็นเหตุต้องให้มีการตรากฎหมายออกมาสกัดกั้น ขณะที่ "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" อยู่นั่นเอง !!

หน้า 3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น