ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"ลับแล, แก่งคอย": เรื่องเล่าว่าด้วยประวัติศาสตร์ของสามัญชนและการเมืองแห่งสุนทรียะ


วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เวลา 22:00:58 น.  มติชนออนไลน์

"ลับแล, แก่งคอย": เรื่องเล่าว่าด้วยประวัติศาสตร์ของสามัญชนและการเมืองแห่งสุนทรียะ

โดย "บ๊อบบี้" และ "แบทแมน"

"ลับแล, แก่งคอย" คือผลงานนวนิยายของ "อุทิศ เหมะมูล" ซึ่งเพิ่งได้รับการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2552 แต่หากใครมีโอกาสได้อ่านนวนิยายความยาว 444 หน้าเล่มนี้จบลง ก็คงพบว่าเนื้อหาของหนังสือนั้นมีความน่าสนใจกว่าเครดิตการเข้าชิงรางวัลหรือการอาจได้รับรางวัลในอนาคตมากมายนัก


นวนิยายเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวชีวิต 3 ชั่วอายุคน นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนถึงกลางทศวรรษ 2530 ของสามัญชนครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตทั้งในด้านถูก-ผิด ดี-เลว สว่าง-มืด อย่างกลมกลึงไม่แบนราบเฉกเช่นชีวิตของมหาบุรุษผู้สูงส่ง


เรื่องราวของบรรดาตัวละครใน "ลับแล, แก่งคอย" ไม่ใช่เรื่องราวของกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำของสังคมหรือแม้กระทั่งชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เป็นเรื่องราวที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตของสามัญชนจำนวนมากในสังคมไทย เพราะเป็นเรื่องราวซึ่งวนเวียนอยู่กับครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัว/พ่อเป็นคนเชื้อสายจีนที่ไม่สามารถไต่เต้าขึ้นไปมีสถานะเป็นเจ้าสัวผู้ยิ่งใหญ่ระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่นได้ ทว่าเป็นเพียงผู้ใช้แรงงานที่ขยับตนเองจากการเป็นแรงงานภาคเกษตรในภาคเหนือตอนล่างมาสู่การเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสระบุรี ขณะที่ฝ่ายแม่ก็เป็นหญิงชาวอีสานที่อ่านหนังสือไม่ออก บ้าหวย และเชื่อผี ซึ่งเดินทางมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในสระบุรีก่อนจะย้อนกลับไปยังอีสานอีกครั้งหนึ่ง


เส้นทางเดินใน 3 ชั่วอายุคนของครอบครัวหลักในนวนิยายเล่มนี้ได้พานพบทั้งแง่มุมเลวร้ายและแง่มุมงดงามของชีวิต จนเราสามารถกล่าวได้ว่านี่เป็น "ประวัติศาสตร์" ของสามัญชนกลุ่มเล็ก ๆ ประวัติศาสตร์ที่เป็น "เรื่องเล่า" เรื่องหนึ่งอันเปรียบเสมือนส่วนเสี้ยวเล็กน้อยที่ถูกประกอบเข้าไปในประวัติศาสตร์สังคมไทยในภาพใหญ่ ซึ่งมิอาจถูกยึดกุมด้วย "เรื่องเล่าหลักเรื่องเดียวเรื่องเดิม" ที่มีสถานะเป็นดังสัจจะสูงสุดจริงแท้ได้อีกต่อไปในยุคปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม อุทิศไม่ได้พยายามกล่าวอ้างว่า "เรื่องเล่า" ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของสามัญชนในนวนิยายของเขามีสถานะเป็น "ความจริงแท้" หรือ "สัจจะ" แต่อย่างใด ทว่าเรื่องเล่าดังกล่าวกลับมีสถานะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างเสริมเติมแต่งขึ้นมา ดังจะเห็นได้จากภาคที่สองของนวนิยายที่มีชื่อว่า "ประวัติศาสตร์ที่เริ่มสร้าง" (ซึ่งชวนให้นึกถึงชื่อของหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่มีความสำคัญมากที่สุดเล่มหนึ่ง) และเมื่อเรื่องราวของ "ลับแล, แก่งคอย" ดำเนินไปเรื่อย ๆ ก็ปรากฏว่า "เรื่องเล่า"ที่ถูกเล่าโดยตัวเอกในนวนิยาย/ลูกชายของครอบครัว กลับถูกปะปนด้วย "เรื่องลวง" เป็นจำนวนมากเสียด้วยซ้ำไป


ราวกับจะเป็นการบอกว่า "ประวัติศาสตร์"ทั้งหลายล้วนเป็น "เรื่องเล่า" ที่ถูกสร้างขึ้นมาทั้งนั้น โดย "เรื่องเล่า" แต่ละเรื่องอาจมีความจริงและความลวงดำรงอยู่อย่างปะปนกันไป แต่ไม่มี "เรื่องเล่า" ใดที่จะมีสถานะเป็นความจริงแท้สูงสุด


ถ้า "เรื่องเล่า" จริง ๆ ลวง ๆ จำนวนมากมายกำลังปะทะสังสรรค์กันอยู่ในพื้นที่ของสังคมสมัยใหม่ ก็เป็นไปได้ว่าสัจจะความจริง ความถูก-ผิด หรือหลักจริยธรรม น่าจะไม่ใช่มาตรวัดที่ใช้ตัดสินปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างทรงประสิทธิภาพสูงสุดอีกต่อไป สิ่งที่อุทิศพยายามเสนอในลับแล, แก่งคอย ก็คือ เราอาจต้องพึ่งพามาตรวัดอื่น ๆ เช่น "ความงาม" ในกรณีของนวนิยายเรื่องนี้ มาใช้วินิจฉัยหรือทำความเข้าใจกับปัญหาต่าง ๆ ในสังคม เพราะหากพิจารณาให้ดีแล้ว เรื่องเล่าลวง ๆ คงไม่ได้หมายถึงความผิดเท่านั้น ทว่าหมายถึงความงามที่ถูกผู้เล่าเรื่องสร้างสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาด้วย


เนื่องจาก "ความงาม" คือ หลักเกณฑ์ทางสุนทรียศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาตามรสนิยมอันแตกต่างหลากหลายของปัจเจกบุคคลแต่ละคนหรือกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม ดังนั้น สำหรับโลกยุคปัจจุบันที่ความถูก-ผิดไม่สามารถจะถูกตัดสินได้อย่างง่ายดายอีกต่อไป  "ความงาม" อันหลากหลายเหล่านั้นจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนที่มีรสนิยมและความเชื่อต่างกันสามารถเข้ามาปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ โดยมี "ความงาม" เป็นสื่อกลาง อย่างปราศจากการพยายามจะหักโค่นล้มทำลายฝ่ายตรงข้ามที่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้มีความผิดโดยสิ้นเชิง


คล้ายอุทิศกำลังบอกเราผ่านนวนิยายของเขาว่า การจัดการกับความแตกต่างหลากหลายในปัจจุบันอาจต้องพึ่งพา "การเมืองแห่งสุนทรียะ" ยิ่งกว่าการเมืองแห่งสัจจะหรือจริยธรรม/จริยศาสตร์ เห็นได้ชัดจากคำโปรยก่อนขึ้นแต่ละภาค (บท) ของ "ลับแล, แก่งคอย" ที่อุทิศอ้างอิงมาจากข้อความของวรรณกรรมมีชื่อระดับนานาชาติ ซึ่งเป็น "เรื่องเล่า" หลากหลายเรื่องราวที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นให้มีความงดงาม (หรือเป็นสุนทรียะที่ถูกสร้างขึ้น) อันสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับ "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" นวนิยายรางวัลซีไรต์ของวินทร์ เลียววาริณ ที่ผู้เขียนมักจะอ้างอิงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาขึ้นมานำหน้าแต่ละบทของนวนิยาย กระทั่งดูเหมือนว่าการต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นเนื้อหาหลักของนวนิยายเล่มดังกล่าว ช่างเป็นสิ่งที่สกปรกผิดบาปเสียเหลือเกินหากเปรียบเทียบกับหลักธรรมคำสอนเหล่านั้น ซึ่งเป็นดังหลักยึดเหนี่ยวที่มีสถานะเป็นสัจจะหรือความดีสูงสุด


ทั้งนี้ ความเชื่อในเรื่องการเมืองแห่งสุนทรียะที่ปรากฏในนวนิยายเล่มนี้ก็ไม่ได้ดำเนินไปเพื่อมุ่งมั่นจะหักล้างทำลายการเมืองที่ยึดมั่นในสัจจะหรือความดีสูงสุด เพียงแต่ประกาศตัวขึ้นมาท้าทาย เพราะพื้นที่ในสังคมสมัยใหม่ได้เปิดโอกาสให้แนวคิดเหล่านี้สามารถปะทะสังสรรค์กันได้ ไม่ใช่ให้ฝ่ายหนึ่งมุ่งทำลายล้างอีกฝ่าย เห็นได้จากการที่ตัวเอกของเรื่องผู้เสนอว่า ความลวงอาจไม่ใช่ความผิด หากแต่คือความงาม ก็ยังคงนับถือหลวงพ่อพระป่าผู้ยึดมั่นในสัจจะสูงสุด เป็น "ครู" คนแรกของเขา แม้ต่อมาเขาจะได้พบปะกับ "ครู" หรือองค์ความรู้อื่น ๆ อันแตกต่างหลากหลายที่ทำให้เขาได้เข้าใจแง่ลวงอันงดงามของชีวิตก็ตาม


ตัวเอกของ "ลับแล, แก่งคอย" ที่เป็นผู้เล่า "เรื่องเล่า"ของสามัญชนที่ถูกสร้าง/แต่ง/เขียนขึ้นอย่างจริง ๆ ลวง ๆ ดี ๆ เลว ๆ เพื่อนำมาปะทะสังสรรค์กับ "เรื่องเล่า" แบบอื่น ๆ  (และอาจรวมถึง "เรื่องเล่าหลัก" ของสังคม) จึงไม่ได้พยายามเอ่ยอ้างว่าตนเองยึดโยงอยู่กับความจริงกว่า ถูกต้องกว่า และมีจริยธรรมหรือคุณธรรมมากกว่า ทว่าเขากำลังสร้างประดิษฐกรรมที่มีความงดงามออกมา แล้วพยายามท้าทายผู้สร้าง "เรื่องเล่า" อื่น ๆ ว่าให้มาปะทะแข่งขันกันโดยมี "ความงาม" เป็นมาตรวัด/หลักเกณฑ์/ตัวกลางสำคัญ


หากคิดตามบทสรุปของ "ลับแล, แก่งคอย" หลักคิดที่เชื่อในเรื่อง  "ความจริง ความดี ความงาม" อาจยังคงดำรงอยู่ ทว่าคงมิได้มีสถานะเป็นสัจจะสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวของโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนหลากหลายอีกต่อไป เพราะอย่างน้อยหลักคิดดังกล่าวก็ยังถูกยั่วล้อท้าทายอย่างย้อนแย้งโดยความเชื่อใน "ความลวง ความดี ๆ เลว ๆ และความงาม" ที่ปรากฏอยู่ในนวนิยายเล่มนี้


นี่อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้สร้างผลงานวรรณกรรมยุคใหม่ พยายามหยิบยื่นให้แก่สังคมไทยร่วมสมัยซึ่งกำลังเผชิญหน้าอยู่กับปัญหาซับซ้อนหลากหลายรายรอบด้าน


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1248266361&grpid=01&catid=08
--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
www.patani-conference.net
http://www.thaihof.org
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://dbd-52.hi5.com
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://www.bedo.or.th/default.aspx
www.chula.ac.th/visitors/thai/calendar.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น