ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปฏิรูปช่อง 11 ทำได้จริงๆ เหรอ?

ปฏิรูปช่อง 11 ทำได้จริงๆ เหรอ?
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 28 กรกฎาคม 2552 18:45 น.


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น




ก้อย รัชวิน วงศ์วิริยะ

ช่วงนี้แอบได้ยินข่าวว่า รัฐบาลโอบามาร์คกำลังมีแผนการใหญ่ที่จะยกเครื่องช่อง 11 ซะใหม่ ให้กลายเป็นทีวีของรัฐ เพื่อบริการประชาชนอย่างแท้จริง หวังลบภาพความเป็นสถานีโทรทัศน์สำหรับนักการเมือง หลังจากที่ถูกตราหน้าจากบรรดาผู้ชมว่ามาเกือบ 10 ปี และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือต้องการให้ช่อง 11 มีผู้ชมมากขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่พอกดรีโมตมาเจอช่อง 11 ก็ต้องรีบเปลี่ยนช่องหนี ทำราวกับช่อง 11 เป็นสิ่งปฏิกูลซะอย่างนั้น
       
       แต่ทั้งนี้ การจะปฏิรูปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างการเมืองไทยที่ว่าแน่ๆ ปฏิรูปกันมาตั้งหลายทศวรรษ ป่านนี้ยังไปไม่ถึงไหน แล้วยิ่งช่อง 11 ที่ได้ชื่อว่าเป็นกระบอกเสียงชั้นดีของรัฐบาลในการโปรโมตตัวเอง และโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยแล้ว อย่างนี้จะไปรอดได้เหรอ

       
       ย้อนกลับไปดูอดีต และปัจจุบันของช่อง 11 ว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นความเป็นไปได้ของการปฏิรูปในครั้งนี้ว่าจะมีทางเป็นจริงได้หรือไม่

       
       ย้อนรอยการเมืองกับช่อง 11
       
       ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เมื่อพูดถึงช่อง 11 คงจะนึกภาพอื่นไม่ได้ นอกจากสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ที่มักจะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสุโขทัยธรรมาธิราช มานั่งสอนหนังสือเพื่อพัฒนาสติปัญญาของผู้ชมทางบ้าน หรือไม่ก็เป็นพวกรายการสารคดี รายการสำหรับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากช่อง NHK ของญี่ปุ่น ส่วนรายการบันเทิงหรือรายการการเมืองหนักๆ นั้นถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก แถมท้ายด้วยช่วงบ่ายๆ ยังมีโปรโมชั่นพิเศษ ปิดสถานีชั่วคราว เป็นเวลา 3 ชั่วโมงเพื่อประหยัดพลังงาน
       
       แต่พอมาถึงยุครัฐบาล ‘หลงจู้’ บรรหาร ศิลปอาชา และ รัฐบาล ‘ขงเบ้ง’ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งส่งดาวสภาอย่าง ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ เจ้าของวาระเด็ด “เก็บอุดมการณ์ใส่ลิ้นชัก” มานั่งบัญชาการกรมประชาสัมพันธ์ ทิศทางและภาพลักษณ์ของช่อง 11 ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการดึง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เข้ามาร่วมผลิตรายการ ส่งผลให้เกิดมีรายการสาระบันเทิงมาอยู่ในผังช่อง 11 เต็มไปหมด ตั้งแต่ซีรีย์ฝรั่ง ภาพยนตร์ไทยย้อนยุค กีฬาเด็ดๆ
       
       ในตอนนั้น ปิยะณัฐให้เหตุผลว่าของการเปลี่ยนแปลงว่าต้องการเห็นช่อง 11 ดูทันสมัยและมีคนดูมากขึ้น ขณะเดียวกัน เขายังมีแผนจะแยกช่อง 11 ออกจากกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้มีหน่วยงานอิสระที่มีความคล่องตัวในการบริการและไม่ได้ทำงานตามระบบราชการเข้าดูแลแทน
       
       แต่ความคิดดังกล่าวได้รับการคัดค้านจากผู้บริหารของกรมประชาสัมพันธ์อย่างมาก เนื่องจากจะกลัวเสียสมบัติชิ้นนี้ไป หลังจากที่เคยเสียช่อง 9 ให้แก่ อสมท. ไปแล้ว ซึ่งสุดท้าย ปิยะณัฐก็แก้เกม ด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนกับรัฐ เพื่อรับผลิตรายการป้อนช่อง 11 แต่แผนการทั้งหมดก็หยุดชะงักไปเสียก่อน เนื่องจากเขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถกลับมาทำงานได้ต่อไป
       
       จนกระทั่งมาถึงยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การเมืองก็เริ่มเข้ามาแทรกแซงสถานีโทรทัศน์ช่องนี้อย่างจริงจังและหนักหน่วงขึ้น มีการสั่งปิดปากสื่อมวลชน ไม่ให้พูดอะไรที่ขัดใจรัฐบาล เนื่องจากนายกฯ นักโทษนิยมการปกครองแบบลีกวนยู เพราะสามารถพัฒนาประเทศได้เร็ว แถมยังไม่ใครคอยมาตรวจสอบว่าทำอะไรไม่ดีไว้บ้าง ส่งผลให้ช่อง 11 ยุคนั้นไม่ต่างจากเมืองลับแล วันๆ เอาแต่เสนอข่าวรัฐบาลฝ่ายเดียว ถึงขนาดที่บางคนกล่าวว่า หากใครเปิดช่อง 11 แล้วเห็นพลพรรคฝ่ายค้านบนหน้าจอก็คงเป็นเรื่องแปลกพิลึกเลยทีเดียว
       
       และยุคที่ดูจะมีการแทรกแซงอย่างโจ๋งครึ่มมากที่สุด เห็นจะไม่พ้นยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่อุตส่าห์ส่งเจ้าแม่ใหญ่แห่งวงการ นปก. อย่างจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งชอบอ้างเสียงประชาชนอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้รับความไว้วางจากประชาชนให้เป็น ส.ส. เลยสักครั้ง มานั่งเก้าอี้เสนาบดี โดยเรื่องแรกที่จักรภพทำก็คือ การส่งช่อง 11 เข้าที่ว่าการอำเภอเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามซะใหม่เป็น NBT หวังจะแข่งความเป็นอินเตอร์กับ Thai PBS โดยหารู้ไม่ว่าอีกไม่กี่วัน คู่แข่งจะหนีเปลี่ยนชื่อเป็นทีวีไทย เพราะต้องการอนุรักษ์ความเป็นไทย
       
       ขณะเดียวกันก็มีการเอารายการของคนใกล้ชิดมาลงผังเต็มไปหมด แต่ที่หน้าไม่อายที่สุดคงจะไม่พ้น การดึงเอาแก๊ง 3 เกลอหัวขวด เพื่อนรักจาก นปก. มาจัดรายการเชียร์ตัวเอง ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งพวกนี้ก็เคยต่อว่า ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อย่างรุนแรงในฐานที่เอารายการยามเฝ้าแผ่นดินมาฉายช่อง 11 แต่ยังดีที่กฎแห่งกรรมนั้นมีจริง ส่งผลให้เจ้าแม่ นปก. นั่งเก้าอี้อยู่ได้ไม่นาน ก็กระเด็นจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาหมิ่นเบื้องสูง
       
       พอมาถึงยุคประชาธิปัตย์ครองเมือง ทิศทางของช่อง 11 ก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าใดนัก มีการล้างบางรายการฝ่ายตรงข้ามซะเกลี้ยง แม้แต่รายการพระเสื้อแดงตอนเช้าก็ยังไม่เว้น หรือรายการที่อยู่มานานถึง 13 ปีอย่าง ‘กรองสถานการณ์’ ก็หลุดผังง่ายๆ ส่วนรายการของพรรคฝ่ายค้าน ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเคยเรียกร้องเอาไว้สมัยเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ป่านนี้ก็ยังไม่เกิดสักที เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้กระมัง ทำให้หลายคนเริ่มคิดว่า คงถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเครื่องช่อง 11 ใหม่จริงๆ เสียที
       
       ถึงเวลากำจัดการเมือง!!!
       
       หากพูดถึงปัญหาของช่อง 11 ที่ใหญ่ที่สุดที่ทุกคนมองเห็น ก็คงไม่พ้นการทำตัวเป็นทีวีการเมืองของช่อง 11 นั่นเอง เพราะบ่อยครั้งที่ช่อง 11 มักจะเอาใจฝ่ายบริหารอย่างออกหน้าออกตา ราวกับรัฐบาลเป็นเจ้าของสถานี โดยไม่สนใจว่าเงินเดือนที่หล่อเลี้ยงช่องอยู่นั้น แท้ที่จริงแล้วมาจากภาษีของประชาชน
       
       สำหรับเรื่องนี้ เฉลิมชัย ยอดมาลัย คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์แนวหน้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับเชิญให้ไปเป็นพิธีกรรายการ ‘ข่าวหน้าสี่’ ก่อนที่จะถูกเขี่ยออกเพื่อกรุยทางให้รายการเอียงข้างกระเท่เร่ อย่าง ‘ความจริงวันนี้’ เข้ามาแทน วิเคราะห์ว่า ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องที่หมักหมมมานานแล้ว และยากที่จะแก้ไขได้ โดยส่วนตัวคิดว่าหากสามารถขจัดการแทรกแซงออกไปได้ ช่อง 11 จะน่าดูขึ้นกว่านี้มาก เพราะที่ผ่านมา รายการต่างๆ โดยเฉพาะรายการข่าวนั้นขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก ยิ่งบุคลากรเอง ตอนนี้แทบจะหาความเป็นมืออาชีพไม่เจอเลย เวลาฝั่งไหนเข้ามามีอำนาจ คนพวกนี้ก็จะเข้ามาประจบประแจง ทำรายการเชียร์กันอย่างโจ่งแจ้ง
       
       “ช่อง 11 ต้องเลิกความเชื่อสักทีว่าตัวเองเป็นทีวีของรัฐบาล เพราะจริงๆ ช่อง 11 เป็นทีวีของรัฐ ซึ่งรัฐเนี่ยมันเหมารวมประชาชนไปด้วย การที่เขาทำตัวแบบนี้มันไม่ถูก อย่างนี้อย่าเรียกตัวเองเป็นสื่อดีกว่า เปลี่ยนเป็นกระทรวงพีอาร์น่าจะเหมาะกว่า แล้วสิ่งที่ช่อง 11 ควรทำตอนนี้มากที่สุดก็คือการเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง โดยไม่ต้องไปสนใจว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ไม่ใช่เลือกทำข่าวแต่คนเป็นรัฐบาลอย่างเดียว”
       
       เฉลิมชัยกล่าวต่ออีกว่า การปฏิรูปที่น่าจะได้ผลที่สุดก็คือ คนที่มาเป็นรัฐบาลต้องหัดทำตัวให้มีธรรมาภิบาล เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ตราบใดที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ยังต้องอาศัยพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากรัฐอยู่ ถึงจะแยกตัวเป็นอิสระจากกรมประชาสัมพันธ์แล้วก็ตาม แต่ก็คงจะสลัดอิทธิพลของรัฐบาลได้ลำบาก หรือไม่ก็ทำให้ช่อง 11 หลุดจากความเป็นราชการไปเลย โดยอาจจะให้เอกชนมาบริหารเลยก็ได้ แต่ต้องมีข้อแม้ว่า หากจะให้ก็ต้องทำอย่างโปร่งใส โดยที่รัฐไม่เสียเปรียบ และได้ประโยชน์คุ้มค่า โดยอาจจะมีประมูลอย่างเปิดเผย ไม่ใช่แอบให้แก่พวกเดียวกันอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
       
       ขณะที่ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม กล่าวในทำนองเดียวกับเฉลิมชัยว่าช่อง 11 นั้นถูกการเมืองแทรกมากเกินไป
       
       “จุดเด่นของช่อง 11 น่าจะอยู่ที่เนื้อหาของรายการซึ่งมีสาระความรู้ แล้วเขาก็เป็นไม่กี่ช่องที่มีเนื้อหารายการแบบ Hard Content หรือสารคดีเชิงข่าว แต่ถ้ามองในเรื่องจุดด้อย ก็คงเป็นเรื่องผู้ชมน้อย มีแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะคนดูส่วนใหญ่ ชอบดูรายการบันเทิงมากกว่า ขณะเดียวกันระบบการบริหารราชการและการแทรกแซงจากรัฐก็ยังสูงอยู่ ถ้าตัดขาดตรงนี้ได้ ผมมองว่าช่อง 11 ก็สามารถทัดเทียมกับช่องอื่นได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นเชิงพาณิชย์”
       
       เปิดแผนปฏิรูปช่อง 11
       
       หลังจากมีเสียงเรียกร้องกันมานาน ในที่สุด สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ยอมแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปสื่อภาครัฐ’ ขึ้นเพื่อปฏิรูปช่อง 11 อย่างจริงจัง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นประธาน
       
       รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในฐานะของโฆษกคณะกรรมการฯ เปิดเผยแนวทางการปฏิรูปช่อง 11 ว่า เรื่องแรกที่จะทำก่อนเลย ก็คือการแยกช่อง 11 ให้เป็นอิสระ โดยในช่วงแรกจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนก่อน และภายใน 3 ปี ก็จะพยายามผลักดันให้เป็นองค์กรนี้มีพระราชบัญญัติรองรับ เพื่อความมั่นคงของหน่วยงาน ขณะเดียวกันก็จะมีการเพิ่มงบประมาณเป็น 660 ล้านบาทต่อปีด้วย
       
       “ด้วยความที่ช่อง 11 นั้นใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการมากเกินไป ทำให้ช่อง 11 นั้นอ่อนไหวและถูกแทรกแซงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอง หรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่เป็นสปอนเซอร์ของช่อง ขณะเดียวกันการที่อยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ก็ทำให้ช่อง 11 ได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา คือถึงโต ก็โตได้ไม่เต็มที่
       
       “ที่ผ่านมาเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่ทุกคนทราบ แม้แต่คนทำงานในช่อง 11 เองก็ยังพูดเลยว่าอยากเห็นช่อง 11 มีคุณภาพ และเติบโตกว่านี้ ที่สำคัญเขาอยากจะแสดงออกให้ทุกคนได้เห็นว่าอย่างน้อยฉันก็มีความเป็นมืออาชีพเหมือนกัน ไม่ใช่พอทำข่าวมาเสร็จแล้วออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นพอเรามาเสนอรูปแบบองค์การมหาชนที่มีความเป็นอิสระให้บุคลากรในช่อง 11 ปรากฏว่า 95 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับเรา”
       
       รศ.ดร.วิลาสินี อธิบายต่อถึงข้อดีของการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนว่า อย่างแรกเลยก็คือมีความคล่องตัวในการบริหารงานสูงกว่า ขณะเดียวกันการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ ก็ทำให้การแทรกแซงทำได้ลำบากขึ้น จากเดิมที่แค่เล่นงานหรือสั่งการอธิบดีคนเดียวก็เรียบร้อยแล้ว แต่รูปแบบใหม่นั้นเป็นคณะกรรมการ เพราะฉะนั้นเวลาจะทำก็ต้องผ่านการประชุมก่อน
       
       ขณะเดียวกันในรูปแบบของช่อง 11 นั้นก็จะเน้นที่พันธกิจ 3 ด้าน คือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยส่วนนี้ขยายมาจากพันธกิจเดิมของช่อง 11 ที่เน้นการศึกษา อย่างที่ 2 คือเพื่อบริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ โดยจะเน้นข่าวสารของภาคราชการที่มีประโยชน์ต่อประชาชน เช่น นโยบายของรัฐ การประชุมของกรรมาธิการในรัฐสภา การสัมมนา และส่วนสุดท้ายก็คือเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย โดยช่อง 11 ใหม่นี้ จะมีการจัดสัดส่วนในการให้พื้นที่แก่รัฐบาลและฝ่ายค้านเท่าๆ กัน เพื่อที่ประชาชนจะได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน
       
       ส่วนที่มาของคณะกรรมการที่จะมาบริหารช่อง 11 รศ.ดร.วิลาสินีกล่าวว่า พยายามจัดให้มีความหลากหลายมากที่สุด โดยแบ่งคณะกรรมการออกเป็น 2 ส่วนคือที่มาโดยตำแหน่ง 3 คน คืออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ส่วนที่ 2 คือผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนซึ่งได้รับการสรรหามาจากองค์กรต่างๆ อย่างสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสภาทนายความ โดยเชื่อว่าเมื่อได้คณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว การทำงานช่อง 11 จะดีขึ้นแน่นอน เพราะคณะกรรมการต้องรายงานผลการทำงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และสาธารณชนเป็นรอบด้วย และที่สำคัญยังได้กำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย
       
       เปลี่ยนแปลงแบบไหนดี?
       
       เมื่อช่อง 11 จะเปลี่ยนแปลงกับเขาสักที หลายคนก็คงวาดภาพความหวังที่แตกต่างกันไป บางคนก็อาจจะอยากให้ช่อง 11 กลายเป็นช่องบันเทิงแข่งกับช่อง 3 ช่อง 7 ไปเลย ขณะที่หลายๆ คนมองว่าน่าจะทำแบบทีวีไทย ในโอกาสนี้ เราจะมามองว่าคนในวงการสื่อเขาคาดหวังจะเห็นอะไรในช่อง 11 ใหม่กันบ้าง
       
       เริ่มต้นที่ ‘ก้อย’ - รัชวิน วงศ์วิริยะ ดารานักแสดงสาวชื่อดัง ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยได้ดูช่อง 11 เพราะรู้สึกว่ารายการของช่องนี้ไม่ค่อยตรงกับความสนใจของตัวเอง หลายรายการก็ดูเป็นรายการของผู้ใหญ่ หรือไม่ก็เป็นรายการที่สาระมากๆ เกินไป ซึ่งบางครั้งในแง่ของคนดูทีวีส่วนใหญ่ก็คงอยากดูรายการที่ผ่อนคลายบ้าง
       ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ก็แทบไม่รู้เลยว่าในช่อง 11 นั้นมีรายการอะไรที่น่าสนใจบ้าง เพราะไม่มีการโฆษณาเลย ผิดกับช่องอื่นๆ ที่การประชาสัมพันธ์รายการเด่นๆ ล่วงหน้ากันเป็นอาทิตย์ๆ
       
       “สิ่งที่ก้อยอยากให้ช่อง 11 ปรับมากที่สุดก็คือความหลากหลายของรายการ คือก้อยอยากให้มีรายการที่เป็นสาระบันเทิงบ้าง อีกเรื่องหนึ่งก็คือภาพลักษณ์ ทุกวันก้อยยังติดภาพว่าช่อง 11 เป็นทีวีเพื่อการศึกษา คือพอเปิดก็ต้องคิดเลยว่าต้องเจอรายการหนักๆ แน่ จริงๆ ถ้าช่อง 11 เพิ่มรายการที่มีทั้งสาระและบันเทิงก็คงจะน่าดูขึ้นกว่านี้ เช่นอาจจะมีรายการแบบให้เด็กวัยรุ่นมาแข่งใช้ความครีเอทีฟกัน เพื่อเพิ่มกลุ่มผู้ชมที่เป็นวัยรุ่น อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะให้ปรับก็คือภาพและโปรดักชันของรายการ อยากให้ดูทันสมัยอีกนิด คนดูจะได้รู้สึกอยากดูมากขึ้น”
       
       ส่วนเฉลิมชัย มองว่า สิ่งที่ช่อง 11 ควรทำมากที่สุด ก็คือกำหนดทิศทางของตัวเองให้ชัดเจน ว่าต้องการจะเป็นช่องอะไรกันแน่ เช่นจะเป็นช่องการศึกษา ช่องกีฬา หรือช่องประชาสัมพันธ์งานของภาครัฐ นอกจากนี้ก็ควรจะแบ่งสัดส่วนรายการให้ชัดเจนไปเลย ไม่ใช่มาทำมั่วๆ แบบที่เป็นอยู่
       
       “เรื่องที่ผมอยากเห็นว่าจะเกิดขึ้นในช่อง 11 มากที่สุดก็คือ ความเป็นมืออาชีพของคนทำงาน แล้วเวลาทำสื่อคุณต้องไม่ขี้ขลาด อย่าหน้าด้าน และทำตัวเป็นอีแอบ ถ้าทำไม่ได้ก็ไปเป็นพีอาร์แทนแล้วกัน”
       
       ขณะที่ธาม มองว่าจริงๆ แล้วบทบาทการเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐ นั่นเหมาะกับช่อง 11 อยู่แล้ว
       
       “จริงๆ แล้วช่อง 11 ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้มีคนดูเพิ่มขึ้น นั่นไม่ใช่หน้าที่หลักของช่อง 11 ผมมองว่าหน้าที่ของช่องนี้ก็คือการสื่อสารจากรัฐถึงประชาชน การที่เอาข้อมูลจำนวนคนดูมาวัด ถือเป็นความผิดพลาด จริงๆ แล้วช่อง 11 ควรวัดความสำเร็จของช่อง จากจำนวนประชาชนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเข้าใจในนโยบายของรัฐ อย่างเรื่องหวัด 2009 ผมว่าช่อง 11 น่าจะเป็นตัวให้ความรู้แก่ประชาชนได้ดีที่สุด”
       
       ว่ากันว่าการจะปรับเปลี่ยนอะไรสักอย่างนั้นเป็นเรื่องยาก ยิ่งของมีผลประโยชน์เยอะแยะ อย่างช่อง 11 ด้วยแล้ว ก็คงยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ถึงเวลาแผนปฏิรูปนั้นได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเรียบร้อย สิ่งที่ประชาชนอย่างเราๆ ทำได้ตอนนี้ก็คือ ‘รอ’ ว่าถึงที่สุดแล้วการปฏิรูปช่อง 11 ที่รัฐบาลพูดไว้จะเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ หรือนี่จะเป็นเพียงแค่ประติมากรรมน้ำลายของรัฐบาลโอบามาร์คอีกชิ้นก็เท่านั้น
       ******************************
       เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
       ภาพ : ทีมภาพคลิก

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085425


--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.familynetwork.or.th
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น